ข่อยว่าแล้ว!! เงินสหกรณ์ฯครูขอนแก่นหายเพิ่ม 1,175 ล้านบาท ยื่นปลด ‘อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์’ และพวกปกปิดหลักฐาน

เปิดประเด็นใหม่เงินสหกรณ์ครูขอนแก่นหาย เป็น 1,175 ล้านบาทไม่ใช่ 396 ล้านบาท ชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ยื่นนายทะเบียนปลด “ดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์” และคณะกรรมการฯปี 62-63 ฐานปกปิดหลักฐาน และจงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมใหญ่ให้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดและอนุมัติโบนัสให้ตนเองและคณะฯถึง 20 ล้านบาท

ดร.วิศร์ อัครสันตติกุล ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึงสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องขอให้คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด พ้นจากตำแหน่งโดยอ้างถึงหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ที่ขก.1010/1305 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 โดยได้แนบบัญชีรายชื่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 57/2562 และชุดที่ 58/2563 และ statement ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เนื้อหาหนังสือระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น จำกัด ได้แจ้งแนวปฏิบัติในการร้องขอของสมาชิกเพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งและแจ้งรายละเอียดการดำเนินการให้ผู้ตรวจสอบกิจการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่นในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูออกจากตำแหน่งแนวทางปฏิบัติดังปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึง

ทั้งนี้ชมรมฯมีความประสงค์ที่จะขอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ชุด 57/2562 ต่อเนื่องชุดที่ 58/2563 ซึ่งมีดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯและกรรมการฯชุดละ จำนวน 14 คน พ้นจากตำแหน่ง โดยมีข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

ประการแรกร่วมกันปกปิดซุกซ่อนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานด้านการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อคราวประชุมวันที่ 4 ธ.ค. 2562 โดยคณะกรรมการฯเปิดเผยต่อที่ประชุมว่ามีเงินหายไปจากสหกรณ์เพียงจำนวน 396 ล้านบาท ซึ่งไม่ความจริงโดยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานได้แก่

รายการเบิกถอน เอกสารประกอบการเบิกเงินที่ตรวจพบ ประกอบด้วย วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 มีการถอนเงินจำนวน 770,000,000 บาท(เจ็ดร้อยเจ็ดสิบล้านบาท)จากบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ไปฝากประเภทฝากประจำ 12 เดือน ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา เทสโก โลตัส  ฟอร์จูนทาวน์ บัญชีเลขที่ 144-101918-9

 

โดยผู้มีอำนาจลงนาม คือ นายเอกราช ช่างเหลา นายนพรัตน์ สร้างนานอก นายสมศักดิ์  โคตวงศ์ และนายนิวัฒร นิราชสูงเนิน และได้ฝากเข้าบัญชีบุคคลภายนอก ชื่อบัญชี นางวราพร พันธะสาร หรือ ธรณี เลขที่บัญชี 144-2-17833-4  ธนาคารไทยพาณิชย์

นอกจากนี้ วันที่ 16 สิงหาคม 2554 ได้มีการเบิกถอนจากบัญชีเดียวกันอีก จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จำนวน 296,000,000  บาท (สองร้อยเก้าสิบหกล้านบาท) ครั้งที่ 2 จำนวน 100,000.000 บาท(หนึ่งร้อยล้านบาท) รวมเป็นเงิน 396,000,000  บาท (สามร้อยเก้าสิบหกล้านบาท) และนำฝากเข้าบัญชี นายเอกราช ช่างเหลา บัญชีเลขที่ 144-17533-6 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

จากนั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 มีการเบิกถอนเพิ่มอีกจำนวน  9,015,719.18  บาท(เก้าล้านหนึ่งหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบเก้าบาทสิบแปดสตางค์) โดยนำฝากเข้าบัญชี นายเอกราช ช่างเหลา บัญชีเลขที่ 144-17533-6  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินทั้งสองครั้งเป็นเงิน 1,175,015,719.18  บาท (หนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้าล้านหนึ่งหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบเก้าบาทสิบแปดสตางค์) ที่สหกรณ์เสียหายเป็นเบื้องต้น

“การที่กรรมการสหกรณ์ฯ ชุดปี 2562 และปี 2563 ต่อเนื่องนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมีเจตนาปกปิดซุกซ่อนเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด ทำให้สหกรณ์และสมาชิกได้รับความเสียหาย กระทบต่องบการเงินของสหกรณ์อย่างร้ายแรง พยานเอกสาร จะได้แสดงและมอบให้กับผู้ตรวจราชการสหกรณ์ในชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริง”ดร.วิศร์กล่าว

ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการดำเนินงานชุด 57/2562 ต่อเนื่องชุดที่ 58/2563 จงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญและคำสั่งนายทะเบียน รองนายทะเบียนสหกรณ์ การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 มีมติให้คณะกรรมการดำเนินการฟ้องร้อง ร้องทุกข์ ดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับผู้ทำให้สหกรณ์เสียหาย พร้อมกับแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกเข้าร่วมกับคณะกรรมการ

“ปรากฏว่าการฟ้องร้อง ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำการให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายกลับล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพดำเนินคดีกับบุคคลเพียง 3- 4 คน ทั้งๆ ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 30 คน พยานเอกสารจะมอบให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง”ดร.วิศร์กล่าวและว่า

ประการต่อมา คือ จงใจฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน กรณีการจัดสรรกำไรสุทธิ เมื่อคราวประชุมใหญ่สามัญประจำปี2562  เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563  เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นในเงินโบนัส จำนวนกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย

ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ฯกล่าวอีกว่า การจัดสรรงบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการควบคุมสหกรณ์ด้วยระบบบัญชี จนกระทั่งสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ได้เพิกถอนมติดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานอยู่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น

นอกจากนี้ ยังจงใจฝ่าฝืนไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่อง วิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับเงินสดขาดบัญชี/เงินสดเกินบัญชี พ.ศ. 2546 ที่จัดสรรกำไรสุทธิจาก1,126,271,660.15  บาทแทนที่จะจัดสรรเพียงจำนวน  894,120,339.72 บาท ตามคำแนะนำในรายงานผลการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีของสหกรณ์ที่ได้กระทำอย่างตรงไปตรงมาเพื่อรักษาประโยชน์ของสหกรณ์และมวลสมาชิก

“สหกรณ์กลับมีข้ออ้างว่า เพื่อที่จะให้สมาชิกจะได้รับเงินปันผลมากๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน  เงินส่วนต่างจำนวน  262,151,320.43 บาท ที่สหกรณ์นำมาจัดสรรเป็นกำไรสุทธิ จึงเป็นการขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดอย่างชัดเจนและเป็นการทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง พยานกลักฐานอยู่ที่สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น”ดร.วิศร์กล่าว

ดร.วิศร์กล่าวว่า จากเหตุผลและพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัดชุดที่ 57/2562 ต่อเนื่องชุดที่ 58/2563 มิได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์ จนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของมวลสมาชิก สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้และประชาชนทั่วไป หากปล่อยให้คณะกรรมการชุดฯนี้ทำหน้าที่บริหารจัดการสหกรณ์ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหกรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้

“พวกเราจึงเห็นสมควรให้คณะกรรมการฯชุดนี้ได้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและขอให้นายทะเบียนและ/หรือรองนายทะเบียนโปรดพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจของท่านต่อไป โดยทางชมรมฯพร้อมที่จะให้ข้อมูล พยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว”ดร.วิศร์กล่าว

 

แสดงความคิดเห็น